corporate-vs-startup

Corporate vs Startup การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และคำแนะนำในการรับมือ

ธุรกิจของคนตัวใหญ่ (ซึ่งอาจจะเป็น Corporate ขนาดใหญ่ หรือ Startup ที่มีเงินทุนมหาศาลก็ได้) vs. ธุรกิจของคนตัวเล็ก (ซึ่งได้แก่ SME/Startup ที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย) ต่อไปนี้จะแทนด้วยคำว่า บริษัทใหญ่ กับ บริษัทเล็ก ซึ่งทุกอย่างมี Spectrum ของมัน โดยจะไล่เรียงจากกรณีที่อยู่ใกล้ขั้วที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมมากก่อน

ปัญหาความไม่เป็นธรรมของบริษัทใหญ่ หรือนักลงทุนรายใหญ่

เรียกบริษัทเล็กเข้าไป Present, Demo และให้ผู้เชี่ยวชาญมาไล่ถามข้อมูลเชิงลึกทางเทคนิค วิธีการ สูตร กลุ่มฐานลูกค้า, etc โดยซ่อนเร้นเจตนาที่ต้องการสืบข้อมูลจากบริษัทเล็ก เพื่อนำไปสร้างธุรกิจของตนเอง เวลาผ่านไปไม่นาน บริษัทใหญ่ออกสินค้าตัวเองที่แทบจะ cloning สินค้าของบริษัทเล็กออกมา

ตัวอย่าง1
ในหนัง Silicon Valley ก็มีตอนนึงที่ VC เชิญบริษัทพระเอกเข้าไป Pitch ให้ฟัง และเอาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาไล่ถามข้อมูลเชิงลึกของ Compression Technology จากนั้นก็มีบริการของบริษัทตัวเองออกมาโดยใช้ technology เดียวกัน เป๊ะๆ

https://silicon-valley.fandom.com/


ตัวอย่าง2

Facebook เองพี่ Mark ก็เคยเรียก Founder ของ snapchat ไปคุยเรื่องความร่วมมือกัน ก่อนที่ออกบริการ slingshot ที่เลียนแบบ snapchat ออกมา

https://fstoppers.com/pictures/facebook-releases-slingshot-new-photo-app-12336


ซึ่งสื่อตอนนั้นก็วิจารณ์กันยกใหญ่ว่านี่เคยการ copy snapchat แบบเห็นๆ ซึ่งต่อมาก็ล้มเหลว และต้องกลับไปเสนอซื้อ snapchat ที่ $3Billion ซึ่งก็ถูกปฏิเสธกลับมา และก็คงมีอีกหลายกรณีที่บริษัทเล็กต้องล้มหายตายจากไป

คำแนะนำในการรับมือ

1. กั๊กๆ หมกๆไว้บ้าง
บริษัทเล็กก็ต้องฝึกอ่านเกมส์ให้ออก ไม่ใช่เขาถามอะไรก็ตอบหมด ให้ส่งอะไรก็ส่งให้หมด และควรต้อง Due diligence/Background check กับคนที่จะเราจะร่วมงานด้วย วงการเล็กนิดเดียว โทรหาคนทีรู้เรื่อง ไม่กี่สายก็สืบได้แล้ว คนร้ายทิ้งร่องรอยในอดีตไว้เสมอ สืบเมื่อไหร่เจอเมื่อนั้น Google Research ดูงบการเงิน ถามคู่ค้า คู่แข่ง ลูกค้า อดีตพนักงาน

ระหว่าง Pitching หรือการเจรจา เค้าถามอะไรมา กั๊กข้อมูลไว้บ้าง โดยเฉพาะข้อมูลชั้นความลับ ( Trade Secret) เอาง่ายๆทุกวันนี้ ยังไม่มีใครรู้สูตร Pepsi ว่าปรุงมาได้อย่างไร ทั้งที่ซื้อหาได้ทุกร้าน Pepsi เขาทำได้อย่างไร

2. สัญญาห้ามเปิดเผยความลับ
เครื่องมือทางกฎหมายก็มีหลายตัวเช่น ก่อนพูดคุยอาจจะขอให้เซ็นสัญญาห้ามเปิดเผยความลับ (NDA) แต่เราก็ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ด้วยนะครับ ไม่ใช่เจอหน้าครั้งแรก ขอเซ็น NDA ก่อนเลย แถม NDA บางที่บังคับผูกพันตลอดชีวิต แบบนี้ไม่มีใครอยากคุยกับเราแน่นอน

ตัวอย่างเอกสาร NDA หรือ Non-Disclosure Agreement จาก Reddit

r/infosecurity - Non-Disclosure Agreement (NDA) Template (DOC& PDF)



3.การจดสิทธิบัตร
การจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการลอกเลียนแบบ ( แต่ถ้าคู่แข่งบิดนิดหน่อย หรือเขียนไม่ครอบคลุม ก็อาจจะโดนลอกได้อยู่ดี ดูตัวอย่างบางแบรนด์จากประเทศ Asia ที่ลอก DJI, Apple แบบไม่อายใคร)


4. Technologies
เครื่องมือทางเทคนิคที่ช่วยให้เราแชร์เอกสารอย่างปลอดภัย เช่น Docsend /GoogleSlideใส่ลายน้ำ พรางข้อมูลบางส่วนไว้ (หรือตัดออกไปเลย) กำหนดคนและระยะเวลา ที่จะให้เข้าถึงข้อมูลได้ พอครบกำหนดก็ปลดสิทธิ์ไม่ให้เข้าถึงอีก


ปัญหาการทุ่มตลาด และการครอบงำตลาด

บริษัทใหญ่ (Corporate /Well-funded startup) ที่มีเงินทุนมหาศาล ยอมขายสินค้าในราคาต่ำกว่าทุน ทุบราคาเพื่อทำลายคู่แข่งสายป่านสั้นให้หมดสิ้น (หลายครั้งมีรัฐบาลต่างชาติหนุนหลังด้วยงบ Subsidization) เปิดดูงบขาดทุนยับ แต่ก็มีงบการตลาดมาสร้างโปรโมชั่น จ้างพรีเซนเตอร์ชื่อดัง ได้ตลอดทั้งปี ไม่มีหมดแรง

คนซื้อชอบใจเพราะได้ซื้อของถูก ขณะที่คู่แข่งท้องถิ่นตายเรียบเพราะไม่มีเงินมาทุ่มตลาดสู้ กฎหมาย Anti-competition/Anti-dumping เป็นเพียงแค่น้ำหมึกบนกระดาษที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ได้จริง


ตัวอย่าง
ตลาด e-commerce คงเห็นภาพนี้ได้ชัดที่สุด ขนาดห้างใหญ่เจ้าตลอด off-line ยังสู้เกมส์นี้ไม่ไหว นอกจากโดนทุ่มตลาดด้วยเงินมหาศาลแล้ว ยังมีรูปแบบการแข่งขันแบบเถื่อนดิบ

เช่น ช่วงเทศกาล 11/11 ที่จะมีการจัดโปรโมชัน ลดแลกแจกแถมมากมาย Platform A ต้องการเอาชนะคู่แข่ง Platform B ให้ได้ในวัน 11/11 โดยเล่มเกมส์ใต้ดิน ส่งข้อความหาร้านค้าทั้งหมดบน Platform B  (ร้านค้าส่วนมากจะขายของอยู่ทั้งสอง Platform) เสนอให้ปิดร้านบน B หนึ่งวัน เพื่อแลกกับ Incentive ต่างๆ

ไม่นับจากการขายของปลอม ของก๊อป ละเมิดลิขสิทธิ์แบบโจ๋งครึ่ม ดันยอด GMV โดยไม่สนวิธีการ สินค้าที่ import มาจากต่างชาติ หลายกรณีเลี่ยงภาษี VAT ทำให้ได้เปรียบต้นทุนอีก 7%

GMV (Gross Merchandise Value) = ยอดขายที่เกิดบน Platform โดยนับจากจำนวนชิ้นที่ขายได้ x ราคาขาย



อีกตัวอย่าง
eBay ที่เคยหาญกล้าเข้าไปลุยตลาด e-commerce ที่จีน แล้วเจอ Alibaba ใช้วิธีแข่งด้วยกลยุทธ์ให้ใช้ฟรียาวหลายปี (ไม่รู้ควรเรียกว่ากลยุทธ์ดีไหม แถมมีรัฐบาลหนุนหลัง) จน eBay ต้องประกาศว่า Free is not a business Model

China B2C Online Shopping Market Share 2016



Uber เองที่มี Founder ที่ Aggressive เถื่อน ดิบ ที่สุดคนนึงของวงการ เข้าทำตลาดแต่ละประเทศ โดยไม่สนกฎหมายว่าอนุญาตให้ทำเรื่อง ride sharing หรือไม่ CEO uber หลายประเทศถูกจับดำเนินคดี ก็ยังต้องมาพ่ายแพ้ที่เมืองจีน เพราะเจอะกลยุทธ์ดัมพ์ราคาสู้ (ไม่รู้จะเรียกกลยุทธ์ดีไหม)​จนในที่สุดต้องยอมแลกหุ้นกับ Didi และเอา uber ออกจากจีนไปในที่สุด

didi

คำแนะนำในการรับมือกับการทุบตลาด


เกมส์นี้ บริษัทเล็กคงหมดปัญญาสู้ได้ด้วยตัวเอง ช้างสารชนกันแหลห หญ้าแพรกก็แหลกลาญ คงได้แต่นั่งมองดูตราปริบๆ ขนาดบริษัทใหญ่ท้องถิ่นเองยังแทบสู้ไม่ได้ ซึ่งเกมส์ระดับนี้ต้องอาศัยอำนาจระดับรัฐ / Regulator มาจัดการควบคุมดูแล ปกป้องผู้ประกอบการ(ทั้งเล็กทั้งใหญ่)ในท้องถิ่น ก่อนที่จะเสียเอกราชด้านเศรษฐกิจ ในยุคการล่าอาณานิคมแบบไม่ใช้กำลัง (หรือเสียไปแล้วก็ไม่รู้)



กรณีศึกษาการทุ่มตลาด

การทุ่มซื้อนักเตะของสโมสรฟุตบอลแมนซิตี้ยุค ชีค มานซูร์

ย้อนไปปี 2008 ที่ ชีค มานซูร์ มหาเศรษฐีจากอาบูดาบี ที่มีเม็ดเงินแบบไม่จำกัด เข้าซื้อสโมสรฟุตบอลแมนซิตี้ ประเทศอังกฤษ และยื่นซื้อโรบินโญ นักเตะชื่อดังสมัยนั้นทันทีด้วยราคา 30 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากสมัยนั้น ทำให้โรบินโญย้ายมาเกาะอังกฤษแบบเซอร์ไพรส์ทุกคน ทีมอื่นได้แต่ยืนมองตาปริบๆ แถมออกข่าวตามหลังว่าพร้อมจะซื้อนักเตะระดับโลกเพิ่มอีก 10 คน ในราคา 30 ล้านปอนด์ต่อคนได้เลยไม่มีปัญหา

May be an image of 7 people and people smiling



แล้วทีมขนาดเล็กจะแข่งได้อย่างไร? ว่าแล้ว FIFA ก็เลยออกกฎ Financial Fair Play ขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในข้อกำหนดคือ Breakeven point requirement ซึ่งกำหนดให้ทุกสโมสรห้ามมีรายจ่ายเกินรายได้ และต้องทำให้รายได้ เท่ากับหรือมากกว่ารายจ่าย (Break-Even) ภายใน 3 ปี

ชีค มานซูร์ ได้ยินดังนั้นก็หาช่องทางหลบเลี่ยง และโชว์พลังคอนเนคชั่นด้วยการเซ็นสัญญา Sponsorship กับ Etihad Airways รวดเดียว 10 ปี สร้างรายได้กว่า 400 ล้านปอนด์ (รายได้หาไม่เห็นยากเลย นี่ไง Break-Even แล้วพอใจหรือยัง ชีค มานซูร์ ไม่ได้กล่าวไว้)


ตัดภาพกลับมาปี 2020 สื่อเยอรมันตีพิมพ์เรื่องราวอื้อฉาว หลังจากที่ขุดคุ้ยจนพบหลักฐานเป็นอีเมล์ที่พิสูจน์ได้ว่า สัญญา Sponsorship นั้น เงินส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นเงินของบริษัทในเครือข่ายของ ชีค มานซูร์ เอง ทำให้ UEFA สั่งแบนแมนซิตี้จากการแข่งขัน Champion League เป็นเวลา 2 ปี พร้อมปรับ 20 ล้านปอนด์ (ถึงแมัโทษแบนจะถูกอุธรณ์และศาลสังยกเลิกในเวลาต่อมา )


อำนาจ และสิทธิพิเศษเพื่อกำแพงทางการค้า

บริษัทใหญ่ หรือ รัฐบาล หรือ ผู้มีอำนาจรัฐ หรือ คนที่สายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจรัฐ ใช้อำนาจพิเศษมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันธุรกิจ กับบริษัทเล็ก

ตัวอย่างไทยๆ
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ซึ่งต่อมาแปลงร่างเป็น ปตท ) มีอำนาจพิเศษที่สามารถเวนคืนที่ดินเอกชนเพื่อมาวางแนวท่อก๊าสได้ ซึ่งคู่แข่งไม่สามารถทำได้ ทำให้เสียเปรียบแบบไม่รู้จะสู้อย่างไร (ซึ่งต่อมาศาลตัดสินให้ต้องโอนคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยใช้อำนาจพิเศษนี้ คืนมาให้แก่รัฐ เพราะ ปตท เป็นแปลงสภาพเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ซึ่งต้องแข่งขันกับเอกชนรายอื่นอย่างเสรีและเป็นธรรม จึงต้องตัดอำนาจพิเศษออก)

ตัวอย่างพญามังกร
Chinese’s Great Firewall เมื่อเราก้าวย่างเข้าสู่แผ่นดินจีน การใช้งานอินเตอร์เน็ตรวมถึง application/ website ต่างๆ จะใช้ได้เท่าที่รัฐบาลจีนกำหนดเท่านั้น แถมที่ให้ใช้ได้ก็ยังมีการ censor เนื้อหาด้วยทีม monitor ของรัฐด้วย



จึงไม่ต้องแปลกใจที่ Google, Facebook, LINE, Amazon, Whatapp, etc ถึงแม้จะมีเงินทุน มี know-how มหาศาลแค่ไหน แต่เจอ Firewall เข้าไป ก็หมดสภาพ หมดสิทธิ์แข่งขันด้วยประการทั้งปวง แต่นั่นก็ทำให้จีนมีบริษัทเทคที่ยิ่งใหญ่อย่าง Baidu, Tencent, Allibaba, Didi, Bytedance ขึ้นมาได้

การทลายกำแพง

ถ้าเป็นรัฐบาลต่างประเทศทำเพื่อปกป้องผู้ประกอบการท้องถิ่นนั้น ถือเป็น Fair Disadvantage ที่เราคงต้องยอมรับสภาพ เพราะรัฐจงใจสร้างเงื่อนไขที่เป็น Unfair Advantage เพื่อให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีความได้เปรียบธุรกิจต่างชาติ ซึ่งความคิดเห็นต่อเรื่องนี้มักถูกแบ่งเป็นสองขั้วเสมอ

ขั้วหนึ่งคือคิดว่าเหมาะสมแล้ว เพราะเป็นการปกป้องธุรกิจท้องถิ่น แต่อีกขั้วกลับมองว่าไม่เหมาะสม เพราะนี่คือโลกแห่งทุนนิยม คนที่มีทรัพยากรมากที่สุด มีทุนเยอะที่สุด สามาถให้บริการได้ดีที่สุด ก็สมควรใช้สรรพกำลังเหล่านั้น สร้างความได้เปรียบให้ตัวเองได้ ผู้ชนะจะเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นหรือไม่ ไม่สำคัญ

แนวทางรับมือสำหรับ Startup ขนาดเล็กในไทย

ประเด็นนี้ยังแตกย่อยไปได้อีก หากเป็นการกระทำในประเทศไทย ซึ่งมีการใช้อำนาจรัฐ/อำนาจพิเศษ ในการสร้างความได้เปรียบ (Unfair advantage) ให้กับกลุ่มบริษัทใหญ่ (แทนที่จะเป็นการช่วยบริษัทเล็ก อย่างที่ควรจะเป็น) ซึ่งกรณีประเทศไทยก็มีเครื่องมือทางกฎหมายหลายตัว

เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ที่เพิ่งอัพเดทไปตอนปี 2560, การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ที่ช่วยให้คนตัวเล็กรวมตัวรวมพลังกันไปสู้กลับคนตัวใหญ่ได้ หรือ พรบ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (บริษัทใหญ่/รัฐ หรือรวมถึงบริษัทเล็กด้วย มักเข้าใจผิดไปว่า สัญญาเขียนว่าอย่างไร ถ้าเราลงนามไปแล้ว ถือว่าผูกมัดตามนั้น

เพราะในความเป็นจริง บริษัทขนาดใหญ่มีอำนาจต่อรองสูง สามารถบีบให้บริษัทเล็กเซ็นยอมรับ ทุกเงื่อนไขที่ต้องการได้เสมอ ซึ่ง พรบ. ฉบับนี้ หากมีข้อสัญญาไหนที่ไม่เป็นธรรม (เช่น สัญญามูลค่า 1 ล้าน แต่มีค่าปรับ 100 ล้านบาท)​ บริษัทก็สามารถยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณา โดยศาลมีอำนาจตัดสินได้ว่า จะยกเลิกสัญญาทั้งฉบับ หรือให้มีผลบังคับใช้เฉพาะบางส่วน (ตัดส่วนที่ไม่เป็นธรรมออก) หรือมีปรับข้อสัญญาให้เป็นธรรมมากขึ้น


กรณีศึกษา : บริษัทใหญ่กับบริษัทเล็กร่วมมือกันได้ดี

Central x MEB 

ปี 2013 Central Online (COL) บริษัทแม่ของ B2S และ Office Mate ซึ่งด้วยสรรกำลังและทรัพยากรมหาศาลที่มี จะทำเองธุรกิจ eBook เองเลยก็ได้ แต่ก็ตัดสินใจเขัาลงทุนใน MEB สตาร์ทอัพไทยที่ทำธุรกิจ eBook ในประเทศที่มีค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือต่อคนไม่เกินปีละ 8 บรรทัด 

meb: e-book ร้านอีบุ๊กอันดับ 1 (หนังสือดี นิยายสนุก นิตยสารดัง ฟรีเพียบ)

ตัดภาพมาปี 2019 MEB มียอดขาย 500 ล้านบาท จำนวนผู้ใช้ 2.2 ล้านคน Quarterly Active User ราว 4.76 แสนคน ปัจจุบันยื่น IPO Filing ไปแล้ว และผ่านเงื่อนไขหมดแล้ว รอเพียงเวลาที่จะ IPO 

Robinhood (by SCB10X) x Skootar 

ช่วงโควิด ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบหนักมาก แถมมีกระแสที่ Food Delivery เจ้าที่มีอยู่เดิม ให้ตลาดคิดค่า GP จากร้านอาหารในอัตราที่สูง 


SCB จากที่เคยทำแต่ธนาคาร เลยเร่งเปิดตัว Robinhood ปั่นแอพ ดึงร้านอาหารเข้าระบบ ได้จำนวนมากในเวลาไม่นาน 
สำหรับ Rider Fleet ซึ่งจริงๆ จะทำเองก็ได้ แต่ SCB ก็เลือกที่จะ partner กับ Skootar 

robinhood food delivery scb 10x โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี่ ไม่เก็บค่าจีพี ส่งอาหาร

โดยชูจุดขายไม่คิดค่า GP จากร้านอาหาร (อนาคตคงทำรายได้จากสินเชื่อแทน ซึ่งเป็น end goal ที่ fintech startup เจ้าอื่นก็พยายามทำอยู่ และ SCB เป็นธนาคารอยู่แล้ว ก็พร้อมทำได้เลย )​

กรมพัฒนาธุรกิจ แจกฟรีโปรแกรมบัญชี เพื่อช่วยเหลือ SMEs

พอเป็นภาครัฐทำ ถามว่าแบบนี้เรียกเป็น การเลือกปฏิบัติ เอื้อประโยชน์เอกชน ผ่านการ subsidize ด้วยเงินภาษี ไหม ? หรือจะถือว่าเป็นการสนับสนุน SME/Startup ดี ความคิดมักถูกแบ่งเป็นสองขั้ว 


ซึ่งก็คงต้องดูในบริบท ว่าถ้า SME/Startup นั้น ผ่านการคัดเลือกด้วยเงื่อนไขที่เป็นธรรม  (ไม่มีล๊อกเสปก มีสายสัมพันธ์กับรัฐ มีสินค้าที่มีคุณภาพดีจริง ) และคัดโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ (ไม่ใช่เอาคนไม่มีความรู้ ไม่เคยทำธุรกิจมาเลือก) ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี 



ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศก็แข่งกันให้การสนับสนุนผู้ประกอบการชาติตัวเองผ่านสารพัดวิธี ทั้งบนดิน (โปรแกรมสนับสนุนผู้ประกอบการ Matching Fund, Grant, etc) และใต้ดิน (แอบ subsidize ให้เงินสนุบสนุนพิเศษในการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งผิดกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ หลับตาข้างนึง ทำเป็นไม่เห็นการทำผิดกฎหมายที่กระทำโดยคนของตัวเอง เช่น การ copy brand สินค้า การละเมิด IP, etc)



บริษัทใหญ่ subsidize เงิน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อสินค้าของบริษัทเล็กที่ตัวเองให้การสนับสนุน/ลงทุนอยู่

ท่านี้ก็เห็นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็ถือเป็นความชอบธรรมที่ทำได้ ก็เงินบริษัทตัวเอง ไม่ได้ขอใครมา แต่ก็ต้องดูลึกลงไปในบริบทด้วยว่า ถ้าเป็นการให้ในวงจำกัด มีกรอบเวลาชัดเจน (เหมือน promotion ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้อยู่ถาวร) แต่ถ้า subsidize แบบ unlimited และต่อเนื่องยาวนาน (จนกว่าคู่แข่งจะตาย) และเป็นการกระทำโดยบริษัทที่มี market share สูงอยู่แล้ว ก็อาจเข้าข่ายความผิด anti-competition/anti-dumpting ได้เช่นกัน

ส่วนบริษัทเล็กที่ไม่ได้รับโอกาสนี้ ก็ไม่ต้องเสียใจ และไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป ด้วยหลักการ “สินค้าที่ไม่ดี ให้ฟรีคนก็ไม่ใช้ สินค้าที่ดี ขายแพงคนก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ใช้” ดังนั้นตั้งหน้าตั้งตาสร้าง product ตัวเองให้ดีต่อไป แน่นอนว่า marketing /promotion ก็มีสำคัญ แต่ไม่สำคัญที่สุด และไม่ใช่หัวใจของธุรกิจ(ทุกประเภท)


บริษัทใหญ่ สร้าง product ตัวเอง แข่งกับบริษัทเล็กเลย ที่มีชื่อเท่ๆ ว่า Venture Builder

ท่านี้ก็พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคหลังที่บริษัทใหญ่ที่ปรับตัวได้เร็วเหลือเกิน  ซึ่งด้วยความที่บริษัทใหญ่ในไทยนั้นแข็งแกร่งมาก มีทรัพยากรมากมาย ถ้าผู้บริหารสูงสุดอ่านเกมส์ขาด ก็สามารถดึงคนที่ “ทำเป็น” มาอยู่ในองค์กร และจัดการทำเองซะเลย 

ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นกัน ที่ความคิดจะแตกเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งกล่าวว่า ทำไมบริษัทใหญ่ไม่เลือกที่จะลงทุนกับบริษัทใหญ่ที่ทำ product/service ตัวนี้อยู่แล้ว จะทำแข่งทำไม จะสร้างขึ้นมาจากศูนย์ทำไม โดยเฉพาะถ้าบริษัทเล็กที่มาเป็นบริษัทไทย ทำไมไม่สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย อะไรก็ว่าไป 

อีกขั้วหนึ่ง ก็บอกว่า ก็คุยกับสตาร์ทอัพมาหลายเจ้าแล้ว ดูหน่วยก้านของ founder แล้ว ดูไม่น่าไปไหวนะ ไม่น่าทำโครงการขนาดใหญ่อย่างที่เราอยากทำได้ product ที่มีอยู่คุณภาพก็งั้นๆ ฐานลูกค้า รายได้ก็ยังไม่เยอะ ประเมินดูแล้ว เริ่มใหม่เองจากศูนย์เลยดีกว่า ทำทุกอย่างได้ดั่งใจด้วย ควบคุมได้ทุกสิ่งอย่าง 

ซึ่ง Dilemma ตรงนี้ คงเป็นการต่อสู้/ถกเถียงทางความคิด ระหว่างสองขั้วต่อไป (หรือระหว่างบริษัทใหญ่และเล็ก) ว่าจะทำอย่างไรให้เมื่อถึงเวลานั้นที่บริษัทใหญ่ตัดสินใจจะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ และเมื่อชายตามองที่บริษัทเล็ก แล้วให้เกิดความรู้สึกว่า เราร่วมมือ/หรือลงทุน หรือกิจการของบริษัทเล็กดีกว่าว่ะ ซื้อเวลาได้ตั้งสองปี (ซึ่งถือว่ามีผลมากในตลาดที่เติบโตเร็ว)

ถ้ารอเวลาอีกสองปี คู่แข่งอื่นที่ใหญ่กว่าจากต่างชาติอาจจะเข้ามาแล้วก็ได้ แถม Founder ก็ดูหน่วยก้านดี คุยรู้เรื่อง ทีมครบ ฐานลูกค้ามีพอสมควร product ดูดีมีศักยภาพ ถ้าเติมพลังทรัพยากรของบริษัทใหญ่เข้าไป น่าจะเป็นเสือติดปีกได้ 

🔥 สุดท้ายนี้ บริษัทเล็ก ที่โดนบริษัทใหญ่สร้าง Product/Service ขึ้นมาแข่งก็อย่าเพิ่งกังวล หรือกลัวมากเกินไป เพราะประวัติศาสตร์ก็ฟ้องให้เห็นหลายต่อหลายครั้งแล้วว่าบริษัทใหญ่ก็ล้มเหลวบ่อยเช่นกัน (ตัวเลขธุรกิจใหม่ล้มเหลว 90% ไม่เคยหลอกใคร แม้บริษัทใหญ่ก็หนีไม่พ้น)

20 Reasons Why Startups Fail
เหตุผลยอดนิยมที่ทำให้ Startup Fail

เราเห็น product คุณภาพแย่ๆ ที่สร้างโดยบริษัทใหญ่บ่อยครั้ง แถมเป็นที่รับรู้มากกว่าอีก เพราะเวลาเปิดตัวเขาจัดงานแถลงข่าวใหญ่โต มีงบการตลาดแบบเล่นใหญ่ ซึ่งทำให้เกิด Backfire เพราะยิ่งเป็นการดึงคนเข้ามาใช้ Product ที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้เกิดเสียงบ่น (และยิ่งไปดึงคนเยอะๆ เข้ามาบ่นให้ดังขึ้น) สุดท้ายปิดตัวไปเงียบๆ มากมาย

บทความโดยคุณโค้ก สาโรจน์ อธิวิทวัส ผู้ก่อตั้ง Wisible โปรแกรมบริหารงานขายสำหรับธุรกิจ B2B 


Image Credit :
https://www.theinformation.com/articles/after-1-billion-profit-from-rides-didi-chuxing-considers-second-half-ipo
https://www.bbc.com/sport/football/23669759
https://www.unavaldostanaincina.it/
https://www.brandbuffet.in.th/2020/10/robinhood-prepare-to-lose-150-million-per-year-for-challenging-food-delivery-business/
https://www.profitfromtech.com/startup-statistics/

Similar Posts